top of page

Kalasin -Thailand Jurassic World l ไปเที่ยวกาฬสินธุ์ บ้านเกิดไดโนเสาร์ไทยกัน l รีวิวฉบับที่ 9

  • Writer: Angklish Kittichai Singha
    Angklish Kittichai Singha
  • Oct 11, 2015
  • 1 min read

คลิกที่ภาพเพื่อเช้าชมแกลอรี่จังหวัดกาฬสินธุ์

วันนี้ไปไหนไม่ไกลพาเที่ยวกันใกล้ๆ และมีสาระกับพี่แอ็ดมินกันนะครับหนูๆ หลังจากหนัง Jurassic World ออกโรงไปแล้ว แอ๊ดมินก็นึกขึ้นมาได้ว่าบ้านเราก็มีพิพิทธภัณฑ์ไดโนเสาร์เหมือนกันนี่นา อยู่ไกลจากกรุงเทพสักหน่อยประมาณ 6 ชั่วโมง แต่ในวันหยุดยาวหากได้พาเด็กๆ ไปเรียนรู้ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แบบนี้น่าจะสนุกเหมือนกันนะ

สวนไดโนเสาร์ไทย มีชื่ออย่างเป็นทางการการว่า พิพิธภัณฑ์สิรินทร (Sirindhorn Museum) หรือ ศูนย์วิจัยและพิพิทธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอสหัสขันธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ในภาคอีสานครับ

ภาคอีสานของไทยถือว่าเป็นบ้านเกิดไดโนเสาร์ยุคครีเตเชียสจนถึงจูราสสิคเลยนะครับ เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์มายาวนาน ดังนั้นขับรถไปแถวนี้เราจะเห็นมีรูปปั้นไดโนเสาร์ตั้งรอต้อนรับนักท่องเที่ยวสองข้างถนนเลยตั้งแต่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ บึงกาฬ บลา บลา แต่ที่กาฬสินธุ์เป็นที่แรกที่มีหลักฐานการขุดพบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ โดยพบที่บริเวณวัดสักกะวัน เมื่อปี 2513 พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ได้พบกระดูกชิ้นใหญ่ในบริเวณวัด แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์และได้นำกระดูกที่พบเก็บรักษาไว้ที่วัด ในปี พ.ศ. 2521 นักธรณีวิทยาและคณะจากกรมทรัพยากรธรณีได้เดินทางมาสำรวจธรณีวิทยาบริเวณนี้ พบกระดูกดังกล่าวจึงได้แจ้งว่าเป็นซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ ต่อมาในปี 2523 คณะสำรวจธรณีวิทยาไทย-ฝรั่งเศสได้นำกระดูกเหล่านั้น 3 ท่อนไปศึกษาพบว่าเป็นส่วนกระดูกขาหน้าของไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) จนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 จึงได้ทำการสำรวจขุดค้นและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ พบซากไดโนเสาร์จำนวนมากในชั้นหินเสาร์ขัว ยุคครีเตเซียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปี แหล่งขุดค้นแห่งนี้พบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชจำนวนมากกว่า 700 ชิ้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ประมาณ 7 ตัว นอกจากนี้ยังมีซากปลาโบราณพันธุ์ใหม่ของโลกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นปลาน้ำจืดมีชื่อว่า “เลปิโดเทส” ยาวประมาณ 30–60 เซนติเมตร อยู่ในยุคมีโซโซอิค หรือ 65 ล้านปีที่แล้ว คาดว่าบริเวณที่พบคงเป็นบึงขนาดใหญ่แล้วเกิดภัยแล้งทำให้ปลาตายและถูกซากโคลนทับไว้กลายเป็นฟอสซิลจนถึงปัจจุบัน นับว่าภูกุ้มข้าวเป็นแหล่งที่พบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์แหล่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันบริเวณสักกะวันได้เปิดเป็นพิพิทธภัณฑ์แหล่งขุดต้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวเหมือนกัน อยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์สิรินธรเลยครับ แบบเดินไปถึง ซึ่งแอ๊ดมินก็จะพาไปชมด้วยครับ อ้อตัวภูกุมข้าว หรือกล่องข้าว หรือ ภูค้าวในภาษาอีสานนี้ เป็นภูตั้งโดดๆ เลยครับ ในอดีตก็คือภูเขาไฟที่ดับแล้วนั้นเอง

กลับมาที่พิธภัณฑ์ดีกว่า หลังจากหลบอากาศร้อนสาหัสเข้ามา (ขนาดไปต้นหน้าหนาวนะเนี่ย) ก็จะได้รับแอร์เย็นฉ่ำสุดขั้ว บรรยากาศช่วงง่วงยิ่งนัก แต่ต้องตะลึงและตกใจ (อารมณ์ทำตัวเด็กๆ ตื่นเต้นหน่อยนะครับ คุณอาคุณน้าทั้งหลาย) เมื่อเจอเจ้าสยามโมไทรันนัส อีสานเนซิส (Siamotyrannus) ญาติป้าไทรันนอซอรัสตัวเอกทั้ง 4 ภาคของซีรีส์จูราสสิคพาร์ค ซึ่งตั้งให้ชื่อประเทศไทยที่ค้นพบเจ้าไทรันนอซอร์อีกสายพันธุ์หนึ่งเมื่อปี 2536 โดยพันธุ์ที่พบในประเทศไทยนั้นจริงๆ เป็นแค่ญาติห่างๆ กันเพราะในเมืองไทยเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับคาร์โนซอรัสในยุคแรกๆ มากกว่าพันธุ์ไทรันนอซอรอยด์โดยทั่วไปครับ เห็นม่ะแอ็ดมินก็มีสาระเหมือนกัน (จริงๆ แอ๊ดมินชอบเรื่องไดโนเสาร์ที่สุด นามปากกาของแอ๊ดมินตามโดเมนของเว็บยังชื่อ "เอย์ซอรัส" เลยไงครับ)

จริงๆ แล้วที่พิพิธภัณฑ์สิรินธรนี่ การจัดดีสเพลย์ การจัดห้อง และบรรยากาศถือว่าได้มาตรฐานระดับโลกเลยนะครับ ไม่แพ้ที่นิวยอร์กหรือลอนดอนด้วยซ้ำ ดีกว่าปักกิ่งสะอีก ผมรับประกัน ภายในแบ่งออกเป็น 8 โซน เริ่มไล่เรียงตั้งแต่ประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์โลกตั้งแต่กำเนิดโลกจนถึงโซนสุดท้ายเมื่อกำเนิดมนุษย์กันเลย ดังนั้นโซนสำคัญจะอยู่ที่โซน 2- 6 ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ไดโนเสาร์ในแต่ละยุค ได้แก่

มหายุคพาลีโอโซอิก เริ่มเมื่อ 542 ล้านปีที่แล้ว สิ่งมีชีวิตบนโลกเกิดการขยายเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่จากพวกที่มีรูปแบบง่ายๆ ไม่กี่ประเภท วิวัฒนาการไปสู่สิ่งมีชีวิตหลากรูปแบบ จากสัตว์ตัวอ่อนนุ่มไปสู่สัตว์ที่มีเปลือกแข็งหุ้ม ปลาโบราณขนาดใหญ่ยาวกว่า 5 เมตร แหวกว่ายผ่านแนวปะการังมหึมาที่แผ่ไปทั้งท้องทะเลเขตร้อน สิ่งมีชีวิตบางประเภทพากันรุกคืบขึ้นบก เปลี่ยนแผ่นดินอันเวิ้งว้างว่างเปล่าให้กลายเป็นป่าทึบที่อุดมไปด้วยแมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน ก่อนที่มหันตภัยปริศนาจะกวาดล้างสรรพชีวิตบนโลกไปจนเกือบหมดสิ้น พาลีโอโซอิก หรือ มหายุคแห่งวิวัฒนาการของสิงมีชีวิต แบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 สมัย คือ ยุคแคมเบรียน, ยุคออร์โดวิเชียน, ยุคไซลูเรียน, ยุคดีโวเนียน, ยุคคาร์บอนิเฟอรัส, ยุคเพอร์เมียน

มหายุคมีโซโซอิค หรือ มหายุคแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์ เริ่มต้นต่อจากนช่วงปลายมหายุคพาลีโอโซอิก แผ่นทวีปทั้งหมดได้เคลื่อนมารวมกันเป็นผืนเดียว เรียกว่า “แพนเจีย” ความใหญ่โตของแผ่นดินทำให้ตอนกลางของทวีปซึ่งห่างไกลจากทะเลที่สภาพแห้งแล้งเป็นทะเลทรายกว้างใหญ่ จึงเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของสัตว์เลื้อยคลานมากที่สุด หลังการสูญพันธ์ครั้งยิ่งใหญ่ตอนสิ้นสุดมหายุคพาลีโอโซอิก สัตว์เลื้อยคลานก็ก้าวขึ้นมาครองโลกในมหายุค มีโซโซอิกที่ตามมา ไดโนเสาร์ครองความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินเป็นครั้งแรก และสภาพแวดล้อมบนโลกก็ทวีความหลากหลายกว่าครั้งใด ๆ เทอโรซอร์ที่งามสง่าเป็นจ้าวเวหา สัตว์เลื้อยคลานทะเลขนาดมหึมาเป็นเจ้าสมุทร นกปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก และสภาพแวดล้อมบนโลกก็ทวีความหลากหลายยิ่งกว่าครั้งใดๆ พืชดอกช่วยแต่งเติมสีสันแก่ป่าผืนกว้างที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดจิ๋ว ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ ต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ จากคมเขี้ยวของไดโนเสาร์

สำหรับไดโนเสาร์ไทยนั้นจะเริ่มในมหายุคมีโซโซอิก แผ่นดินที่ปัจจุบันเป็นประเทศไทย เป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์นานาชนิด นับตั้งแต่พวกกินเนื้อขนาดใหญ่หรือเทอโรพอดที่เป็นญาติสนิทของ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ พวกกินพืชคอยาวหรือซอโรพอด ซึ่งหนักกว่าช้างหลายตัวรวมกัน ไปจนถึงไดโนเสาร์ปากนกแก้วตัวจิ๋ว การศึกษาอย่างต่อเนื่องทำให้เราเข้าใจความเกี่ยวข้องระหว่างไดโนเสาร์กลุ่มต่างๆ ทั้งพวกสะโพกแบบนก และ สะโพกแบบสัตว์เลื้อยคลาน และตระหนักว่าไดโนเสาร์ไทยมีคุณูปการต่อความเข้าใจเรื่องวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ในระดับโลกมากเพียงใด ไดโนเสาร์ไทย ไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 16 สายพันธุ์ โดยมีอยู่ 5 สายพันธุ์ที่ไม่ซ้ำใครในโลก เรียงตามอายุได้แก่

ยุคไทรแอสสิก ได้แก่ อิสานโนซอรัส, อรรถวิภัชชิ ยุคจูแรสสิก ได้แก่ สเตโกซอร์, ฮิบซิโลโฟดอน และยุคครีเทเชียส ได้แก่ ภูเวียงโกซอรัส สิรินทรเน, กินรีมิมัส, สยามโมซอรัส สุธีธรนิ, สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส, ชิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิครับ

ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์เราสามารถเดินไปวัดสักกะวันที่อยู๋ใกล้ๆ กันครับไปดูแหล่งที่เป็นแหล่งขุดค้น หรือพูดง่ายๆ หลุมศพของบรรดาเหล่าไดโนเสาร์กันนั้นแหล่ะ แต่ละตัวขนาดนี้พาลให้คิดว่าถ้ามีมนุษย์หลงอยู่ในยุคนั้นจริง มีหวังสูญพันธุ์แหงมๆ หมายถึงไดโนเสาร์นะครับ มนุษย์กินเก่งจะตาย กินสัตว์ได้แทบจะทุกอย่างบนโลก ฮา ฮา

จบการพาน้องๆ หนูๆ เที่ยวเล่นในยุคไดโนเสาร์แล้วนะครับ คราวหน้ามาดูกันดีกว่าว่าพี่แอ๊ดมินจะพาไปเที่ยวกันอีกดีน้า 555 สำหรับใครอยากชมภาพไดโนเสาร์ภายในพิพิธภัณฑ์อีกสามารถกดชมได้ที่ภาพแรกเลยนะครับจะลิงค์ไปที่แกลอรี่ ส่วนใครเบื่อแล้ว จากพิพิธภัณฑ์ขับรถไปต่อที่วนรอบภูกุ่มข้าวนะครับ (ไม่ต้องเลี้ยวกลับเข้ากาฬสินธุ์) ที่จะเข้าเมืองอีกทาง จะได้พบกับวัดพุทธนิมิตร หากมีเวลาสามารถเข้าไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐ์บนหน้าผา ที่เก่าแก่มากคาดว่าตั้งแต่ยุคก่อนมีประเทศสยามเสียอีก ตั้งแต่ยุคที่พุทธศาสนาเพิ่งเข้ามาเผยแผ่ในดินแดนนี้กันเลย สุดท้ายขอบคุณข้อมูลทั้งหลายจากเว็บพิพิธภัณฑ์สิรินทรด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับ

Comments


Recent Travels
bottom of page